BLOGS

สีขอบฟุตบาท มีข้อกำหนดในการจอดอย่างไรบ้าง

คุณต้องการให้ คาร์แทรค ช่วยเหลือเรื่องอะไร?

ฉันเป็น / ...
จำนวนยานพาหนะของคุณ
ขอบคุณค่ะ เจ้าหน้าที่คาร์แทรคจะติดต่อกลับหาคุณโดยเร็วที่สุด
Oops! Something went wrong while submitting the form.

ขอบฟุตบาทที่เราจอดชิดเพื่อทำธุระกันอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะจอดเพียงชั่วคราว จอดรับ-ส่งผู้โดยสาร หรือจอดค้างไว้เป็นชั่วโมง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าขอบ ฟุตบาท แบบไหนที่เราสามารถจอดได้หรือจอดไม่ได้ และสีของขอบฟุตบาทแต่ละสีนั้นหมายถึงอะไร มีข้อกำหนดอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยครับ

ฟุตบาทแถบสีแดงสลับขาว

สีฟุตบาทลักษณะนี้ หมายถึง ห้ามหยุดรถ ห้ามจอดรถทุกชนิด ตลอดทั้งแนวเขตที่กำหนดเป็นอันขาด นั่นรวมไปถึง การห้ามหยุดจอดรถชั่วคราว เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสาร หรือจอดเพื่อซื้อของข้างทางด้วย และนอกจากนี้ ยังห้ามผู้โดยสารทำการโบกเรียกรถโดยสารทุกชนิด ที่ต้องจอดรับ-ส่ง

ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ว่าขอบทางสีแดงขาวนั้น มักจะอยู่ในบริเวณที่มีการจราจรที่คับคั่ง ทางโค้ง หัวมุม หรือบริเวณที่มีการสัญจรของรถยนต์ค่อนข้างมาก เพื่อเป็นการไม่ให้มีการจอดขวางเส้นทางเดินรถ สถานที่ห้ามจอด หรืออาจจะทำให้การจราจรติดขัดได้นั้นเอง

โดยอ้างอิงจาก ข้อกำหนดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจร และความหมายของสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร เกี่ยวกับเส้นแดงสลับขาวไว้ดังนี้ :

ส่วนที่ ๑ … ข้อ ๑๘ … (๘) “เครื่องหมายห้ามหยุดรถ” มีลักษณะเป็นแถบสีแดงสลับขาว แสดงที่ขอบคันหิน หรือขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถ หรือทางจราจรหรือที่อื่นๆ หมายความว่า ห้ามหยุดรถ หรือจอดรถทุกชนิดระหว่างแนวเขตที่กำหนดเป็นอันขาด (พบ.๑๐)

เพราะฉะนั้นเราควรเลี่ยงการจอดชิดขอบเส้นสีแดงขาว ไม่ว่ากรณีใด ๆ นะครับ

ฟุตบาทแถบสีเหลืองสลับขาว

สีฟุตบาทลักษณะนี้ หมายถึง ห้ามจอดรถทุกชนิด ตลอดทั้งแนวเขตที่กำหนด เว้นแต่คือ หยุดเพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารชั่วคราว ด้วยระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งโดยส่วนมากเราจะเห็นเส้นขอบสีเหลืองสลับขาวในบริเวณที่จัดไว้ให้เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสาร จุดขึ้น-ลงรถโดยสารต่าง ๆ

โดยอ้างอิงจาก ข้อกำหนดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจร และความหมายของสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร เกี่ยวกับเส้นเหลืองสลับขาวไว้ดังนี้ :

ส่วนที่ ๑ … ข้อ ๑๘ … (๗) “เครื่องหมายห้ามจอดรถ” มีลักษณะเป็นแถบสีเหลืองสลับขาว แสดงที่ขอบคันหิน หรือขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถ หรือทางจราจร หรือที่อื่นๆ หมายความว่า ห้ามจอดรถทุกชนิดระหว่างแนวเขตที่กำหนด เว้นแต่การหยุดรับส่งคน หรือสิ่งของชั่วขณะซึ่งต้องกระทำโดยมิชักช้า (พบ.๙)

ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การ จอดรถ และ หยุดรถ ไม่เหมือนกันนะครับ หากเราหยุดรถเพื่อรับส่งคนหรือสิ่งของในระยะเวลาสั้นก็สามารถทำได้ครับ แต่ต้องเร็วหน่อยนะครับ คุณตำรวจกำลังมาแล้ว

ฟุตบาทแถบสีดำสลับขาว

สีฟุตบาทลักษณะนี้ หมายถึง ต้องการกำกับให้เห็นขอบทางชัดเจน เช่น ถนนเส้นที่ค่อนข้างมีความโค้ง บริเวณขอบ หรือคอสะพาน บางจุดอนุญาตให้สามารถจอดรถได้ แต่ต้องชิดขอบทางด้วยนะครับ ซึ่งในบางกรณีการจอดตามขอบเส้นสีดำขาวก็อาจผิดข้อกำหนดได้นะครับ ตัวอย่างเช่น จอดห่างขอบทางเกินไป, จอดซ้อนคัน, จอดบริเวณที่เป็นขอบหรือคอสะพาน หรือจอดในบริเวณที่มีการใช้เครื่องกั้นห้ามจอดตั้งไว้ (โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่จราจร) แล้วเราไม่ทราบหรือมองไม่เห็น ก็อาจโดนจับได้เช่นกัน

โดยอ้างอิงจาก ข้อกำหนดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจร และความหมายของสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร เกี่ยวกับเส้นเหลืองสลับขาวไว้ดังนี้ :

ส่วนที่ ๑ … ข้อ ๑๙ … (๕) “เครื่องหมายขาวดำ” มีลักษณะเป็นแถบสีขาวสลับสีดำ แสดงหรือทำให้ปรากฏที่ขอบคันหินหรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ เพื่อให้ผู้ใช้ทางเห็นขอบคันหินหรือสิ่งกีดขวางนั้นๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (พต.๘)

และที่สำคัญที่เราอาจเข้าใจผิดกันว่า เส้นขอบสีดำขาวนั้นหมายถึงสามารถจอดได้ทั้งหมด นั้นอาจไม่ใช่นะครับ ซึ่งถ้าเราอ่านคำอธิบายให้ดี ๆ แล้วละก็ จะเข้าใจได้ว่า การทาสีเป็นสีดำขาวสลับกันนั้นใช้เพื่อเน้นให้เห็นขอบทางได้ชัดเจนมากขึ้นนั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น บริเวณขอบทางที่เป็นวงเวียน หรือบริเวณทางโค้ง เป็นต้น ซึ่งบางจุดบางบริเวณก็จอดไม่ได้นะครับ

พระราชบัญญัติ จราจรทางบก เกี่ยวกับเรื่องการจอดรถ

จากพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ.2522 มีมาตราที่ระบุชัดเจนเกี่ยวกับการจอดรถไว้ดังนี้

มาตรา 57 เว้นแต่จะได้มีบทบัญญัติ กฏ หรือข้อบังคับตามพระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถ

(1)    บนทางเท้า
(2)    บนสะพานหรือในอุโมงค์
(3)    ในทางร่วมทางแยก หรือในระยะสิบเมตร จากทางร่วมทางแยก
(4)    ในทางข้าม หรือในระยะสามเมตรจากทางข้าม
(5)     ในเขตที่เครื่องหมายจราจรห้ามจอดรถ
(6)    ในระยะสามเมตรจากท่อน้ำดับเพลิง
(7)    ในระยะสิบเมตรจากที่ตั้งสัญญาณจราจร
(8)    ในระยะสิบห้าเมตรจากทางรถไฟผ่าน
(9)    ซ้อนกันกับรถอื่นที่จอดอยู่ก่อนแล้ว
(10)  ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ หรือในระยะห้าเมตรจากปากทางเดินรถ
(11)  ระหว่างเขตปลอดภัยกับขอบทางหรือในระยะสิบเมตรนับจากปลายสุดของเขตปลอดภัยทั้งสองข้าง
(12)  ในที่คับขัน
(13)  ในระยะสิบห้าเมตรก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทางและเครื่องหมายไปอีกสามเมตร
(14)  ในระยะสามเมตรจากตู้ไปรษณีย์
(15)  ในลักษณะกีดขวางการจราจร

ทำความเข้าใจข้อกำหนดทางการจราจรให้ดี

สีเส้นขอบฟุตบาทไม่ใช่ทั้งหมดที่เราควรทราบ เราควรสังเกตป้ายห้ามจอด หรือสัญลักษณ์อื่น ๆ ร่วมด้วยนอกจากสีเส้นขอบทางเพียงอย่างเดียว เพราะในบางพื้นที่อาจไม่มีขอบถนน หรือในกรณีที่มีการใช้เครื่องหมายห้ามจอดประเภทต่าง ๆ มาตั้งไว้ หากเราไม่มีความเข้าใจในส่วนนี้ก็อาจจะปฏิบัติผิดหลักจราจรได้

ที่สำคัญเมื่อมีรถแล้ว อย่าลืมเพิ่มความใส่ใจในการใช้ถนนร่วมกับผู้อื่นให้มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการเป็นผู้ขับขี่ที่ดี เพื่อทำให้การจราจรเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ติดขัดจากพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัว และยังสามารถสร้างความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สีขอบ ฟุตบาท มีหลากหลายแบบ และมีข้อควรระวังในการจอดชิดริม ฟุตบาท โดยจะแบ่งประเภทตามสีของขอบ ฟุตบาท ซึ่งเราจะทราบได้อย่างไรว่าควรจอดหรือไม่ควร มาดูกันเลย